เด็กวัยแรกเกิดถือเป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่ทุกคนจำเป็นต้องคอยดูแลเป็นพิเศษ เหตุเพราะนี่คือจุดเริ่มต้นแรกของการเกิดมาเพื่อใช้ชีวิตบนโลกใบนี้อีกทั้งยังเป็นวัยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองอะไรได้เลย คนที่คอยดูแลจึงเป็นบุคคลสำคัญอย่างมากที่จะทำให้เด็กๆ ในวัยนี้สามารถเจริญเติบโตได้อย่างถูกต้อง สมวัย ก่อนที่เขาจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคตต่อไป เพราะฉะนั้นการดูแลเด็กๆ ในวัยนี้ให้ดีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ รวมถึงการเจริญเติบโตให้เป็นไปตามวัยก็ต้องใส่ใจไม่น้อยเลยทีเดียว โดยการเจริญเติบโตของเด็กวัยแรกเกิดจะสามารถแบ่งเป็นช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึงประมาณ 1 ขวบ ได้ดังนี้
1. ช่วงแรกเกิด – 2 เดือน – ช่วยวัยนี้สามารถยกคอหรือหันคอได้เมื่อนอนหงาย มือจะกำเอาไว้ตลอด แต่ตรงช่วงคอจะยังไม่สามารถรับน้ำหนักของศีรษะได้เมื่อจับให้นั่ง ทำได้แค่อาการร้องไห้เมื่อต้องการสิ่งต่างๆ หรือไม่พอใจ พอจะจับความรู้สึกได้ เช่น หากเขี่ยแก้มฝั่งไหนก็จะหันหน้าไปทางฝั่งนั้นเป็นการตอบสนอง
2. ช่วงอายุ 3-4 เดือน – กล้ามเนื้อบริเวณตาจะเริ่มทำงานได้ดีขึ้น เริ่มมองหาสิ่งต่างๆ รอบตัว เริ่มควบคุมมือและเท้าให้เคลื่อนไหวได้บ้าง เริ่มมีปฏิกิริยาต่างๆ ที่ชัดเจนมากขึ้น อาทิ การเริ่มดันตัวเองให้ขยับไปมา ชูคอและแขนทั้ง 2 ข้างเมื่อนอนคว่ำ กล้ามเนื้อบริเวณคอก็จะแข็งแรงมากขึ้นด้วย สามารถตั้งคอได้เมื่อมีคนพยุงให้นั่ง
3. ช่วงอายุ 5-6 เดือน – เริ่มนั่งด้วยตัวเองได้ในระยะเวลาสั้นๆ แบบไม่จำเป็นต้องมีคนคอยช่วยพยุงเหมือนตอนอายุน้อยกว่านี้ ซึ่งระยะเวลาในการนั่งเองได้จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมีการสัมผัสพวกของเล่นประเภทต่างๆ เช่น ตัวต่อ โดยการหยิบจับแบบนี้จะใช้เทคนิคของการกำมือของช่วงฝ่ามือกับบริเวณต้นแขน แต่เด็กในวัยนี้จะยังใช้นิ้วหัวแม่มือไม่เป็น สามรถพลิกตัวเองจากนอนคว่ำเป็นนอนหงายได้ ช่วงเวลาที่นอนคว่ำสามารถดันตัวเองเพื่อยกไหล่และศีรษะในการมองไปรอบๆ เพื่อหยิบสิ่งของต่างๆ
4. ช่วงอายุ 7-9 เดือน – เด็กสามารถคลานได้ด้วยตัวเอง ขณะที่บางคนเริ่มหัดเดินด้วยการมีคนจูงมือ สามารถนั่งด้วยระยะเวลาที่ยาวนานมากขึ้นโดยไม่ต้องมีคนคอยพยุง สามารถเกาะสิ่งของเพื่อลุกขึ้นยืนเองได้
5. ช่วงอายุ 10-12 เดือน – สามารถยืนขึ้นด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีใครจับ เริ่มเดินได้ด้วยตนเอง ในขณะที่เด็กทารกบางคนก็จะเริ่มต้นพูดในวัยนี้ด้วยน้ำเสียงแบบที่ยังฟังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่นัก แต่ก็สามารถรับรู้ได้ว่าเขามีพัฒนาการที่ก้าวกระโดดอย่างมาก ถือว่าเริ่มโตเป็นเด็กมากขึ้น